สิ่งสำคัญสำหรับคนที่ต้องการต่อปริญญาโทควรรู้
ปลุกกำลังใจในการสานฝันเพื่อที่จะเรียนต่อปริญญาโท
เมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว เชื่อว่ามีหลายคนที่ต้องการเรียนต่อปริญญาโทแต่ไม่แน่ใจว่าจะเรียนต่อดีไหม ดังนั้นเราควรรู้สิ่งสำคัญเหล่านี้ก่อนตัดสินใจ มีอะไรบ้างไปดูกัน
1.รู้เป้าหมายตัวเอง
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนต่อคือ รู้จักเป้าหมายของตัวเองว่าเราจะเรียนต่อไปเพื่ออะไร เพราะการเรียนต่อโดยไร้เป้าหมายจะทำให้เสียเวลาและเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นแล้วเราจึงควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนสำหรับการเรียนต่อว่าเราจะเรียนไปทำไมและเพื่ออะไร เช่น เรียนต่อเพื่อใช้ในการทำงานในสายที่ตัวเองทำงาน เรียนต่อเพื่อเป็นอาจารย์ หรือเรียนต่อเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลในการเลือกเรียนในหลักสูตรต่างๆ และช่วยให้เรากำหนดขอบเขตของเวลาได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
2.ภาคปกติ VS ภาคพิเศษแตกต่างกันอย่างไร
โดยปกติแล้วการเรียนต่อปริญญาโทจะมีให้เลือกเรียนได้สองแบบก็คือภาคปกติและภาคพิเศษ โดยทั้งสองภาควิชานั้นจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่โครงสร้างหลักสูตรยังคงเหมือนกัน
- ภาคปกติจะเป็นการเรียนในรูปแบบวันจันทร์-ศุกร์ การเรียนจะไม่หนักเท่าภาคพิเศษ เพราะไม่ต้องมีวิชาเรียนอัดเกินไป ทำให้มีเวลาทำงานส่งอาจารย์ในวันเสาร์อาทิตย์ด้วย การเรียนภาคปกติจึงเหมาะสำหรับคนที่มีเวลาว่างในวันปกติ ผู้ที่ยังไม่ได้ทำงานประจำ คนที่มีรายได้น้อยและคนทำงานอิสระนั่นเอง
- ภาคพิเศษนั้นจะมีความต่างจากภาคปกติคือมีการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ และค่าหน่วยกิตจะแพงกว่าการเรียนภาคปกติค่อนข้างมาก ภาคพิเศษจะเหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานประจำ เพราะมีเวลาจำกัดในการเรียน
3.โครงสร้างหลักสูตรแผน ก และแผน ข
โดยปกติแล้วหลักสูตรปริญญาโทจะมีให้เลือกอยู่ 3 แบบคือแผน ก1, ก2 และแผน ข ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันทั้งวิชาเรียน ความเข้มข้นและรูปแบบการเรียน
- แบบแผน ก1 หลักสูตรที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรืออาจารย์ในสาขาวิชานั้นๆ โดยหลักสูตรแบบ ก1 จะไม่มีการเรียนการเรียนการสอน แต่จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้เวลาไปกับการทำวิทยานิพนธ์เท่านั้น ทำให้หลักสูตร ก1 ไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น
- แบบแผน ก2 จะมีความต่างจากแบบแผน ก1 คือมีการเพิ่มการเรียนการสอนให้เพื่อปรับพื้นฐานและความรู้ให้กับผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปทำวิทยานิพนธ์ได้ การเรียนแบบแผน ก1 จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจเป็นอาจารย์แต่ต้องการเสริมความรู้ให้มากขึ้น
- แบบแผน ข จะมีความคล้ายกับแบบแผน ก2 เพียงแต่ว่าจะมีความเข้มข้นของเนื้อหาที่น้อยกว่าการเรียนแบบแผน ก และไม่จำเป็นต้องทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษา แต่ทำเป็นสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระแทน การเรียนแบบแผน ข จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานประจำ
4.รู้จักวิธีการหาทุน
ทุนเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับผู้เรียนต่อ ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก เพราะทำให้ผู้เรียนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในระหว่างเรียน ปกติแล้วการหาทุนเรียนต่อจะมีอยู่สองแบบคือทุนภายในและทุนภายนอก
- ทุนภายใน คือทุนที่ทางมหาวิทยาลัยหรือภาควิชาที่เราศึกษาต่อออกให้โดยตรง เช่น ทุนผู้ช่วยอาจารย์ ทุนผู้ช่วยวิจัย ทุนสำหรับนักเรียนต่างชาติ ทุนสนับสนุนการวิจัย โดยทุนภายในแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยเราสามารถดูทุนภายในได้ที่เว็บไซต์ของมหาลัยหรือว่าหน้าห้องภาควิชาโดยตรงได้เลย
- ทุนภายนอก คือทุนที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนภายนอกที่ไม่ใช่จากทางมหาลัยโดยตรง เช่น ได้รับเงินทุนจากบริษัทที่ทำงาน ทุนสำหรับการตีพิมพ์ในวารสาร หรือเงินทุนจากกระทรวงหรือหน่วยงานต่าง ๆ
การได้รับทุนเป็นสิ่งที่สะดวกกับการเรียนต่อมาก
โดยทุนภายในและภายนอกนี้ เราสามารถหาได้ตั้งแต่ตอนสอบเข้าเพื่อให้ได้ทุนไปเรียน หรือระหว่างเรียนโดยสอบถามจากทางภาควิชาหรืออาจารย์ที่ปรึกษาได้ เพราะทุนแต่ละแบบก็มีข้อกำหนดและรายละเอียดที่แตกต่างกัน
5.รู้จักวิธีการสอบเข้ามหาลัย
โดยปกติแล้วการสอบเข้าเรียนต่อจะมีอยู่ 2 รอบ ซึ่งก็คือการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์
การสอบรอบแรกจะเป็นการสอบข้อเขียนเพื่อวัดความรู้พื้นฐานของผู้เข้าสอบ โดยทางภาควิชาจะเป็นคนกำหนดหัวข้อหรือหนังสือที่ให้ผู้เข้าสอบให้ได้อ่านเป็นการเตรียมตัว และอาจจะมีการสอบวัดระดับภาษาอีกด้วย โดยการสอบวัดระดับภาษาจะสามารถสอบได้ที่มหาวัยโดยตรงเช่น CU-TEP, KU-EPT, TU-GET เป็นต้น และผลคะแนนสอบจาก TOEIC, IELTS ก็สามารถใช้ยื่นคะแนนแทนการสอบวัดระดับภาษาได้ แต่บางสาขาวิชาอาจจะไม่มีการสอบข้อเขียนแต่เป็นการให้ผู้เข้าสอบส่งผลงานเข้ามาแทน
การสอบสัมภาษณ์จะเป็นการสอบปากเปล่ากับอาจารย์ประจำสาขานั้นๆ คำถามขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ เช่น หัวข้อที่ใช้สอบสัมภาษณ์จะเป็นหัวข้อเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์หรือหัวข้อวิจัยที่เคยทำมาและหัวข้อที่จะทำต่อในระดับปริญญาโทของผู้เข้าสอบ
6.รู้จักความต้องการของตลาด
ในอนาคตบางสาขาวิชาอาจถูกยุบหรืออาจจะมีสาขาวิชาใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งนึกที่เราควรคำนึงก็คือความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตอีก 2-5 ปี ว่ามีแนวโน้มหรือขาดแคลนแรงงานในด้านใด และมีการคาดการณ์ในอนาคตว่าสาขาที่จะมาแรงจะเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับอะไร
7.รู้จักเตรียมตัวก่อนตัดสินใจเรียนต่อ
สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก็คือ
- เตรียมตัวเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะหนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด
- เตรียมคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเวลาในการเรียนปริญญาโทสั้นกว่าที่คิด และหากไม่ได้คิดหัวข้อที่อยากทำไว้ก่อนจะทำให้การเรียนจบใช้เวลาและแรงกายมากกว่าเดิม
- เตรียมตัวรับมือกับความท้อแท้ พบบ่อยครั้งที่ผู้เรียนต่อในระดับปริญญาโทต้องเผชิญหน้ากับความท้อแท้ในการเรียน
- เตรียมตัวเรื่องเวลา การเรียนต่อในระดับปริญญาโทขึ้นไป อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะถือว่าเราเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ถ้าคุณกำลังลังเลที่จะเรียนต่อ
นี่ก็คือข้อควรรู้สำหรับผู้ที่ลังเลในการตัดสินใจเรียนต่อ หากรู้จุดประสงค์ในการเรียนต่อแล้ว เราจะต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนเพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ในชีวิตข้างหน้า