สงกรานต์ ปี 2565 นี้ จัดได้หรือไม่? มีข้อห้ามอะไรบ
ในช่วงหลายปีนี้ประเทศไทยยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19อยู่
ทำให้ช่วงหลายปีมานี้ได้มีการงดการจัดงานต่าง ๆ มากมาย เช่น งานคอนเสิร์ตต่าง ๆ รวมไปถึงประเพณีของไทย ยกตัวอย่างเช่น วันสงกรานต์ เนื่องจากเป็นประเพณีที่ทุกคนต่างออกมาเล่นน้ำกันอย่างคับคั่ง ทำให้มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดสูงมาก หลายคนต่างสงสัยว่าประเพณีนี้สำคัญอย่างไร ทำไมหลายคนต่างรอคอยเทศกาลนี้ ในปี 2565 นี้สามารถจัดได้หรือไม่ และมีมาตรการอะไรบ้าง ดังนั้นเราจะพาไปรู้จักกับประวัติความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ และไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการจัดงานในปี 2565 นี้
สงกรานต์ คือ ประเพณีของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน รวมไปถึงศรีลังกาและประเทศทางตะวันออกของประเทศอินเดีย มีการสันนิษฐานกันว่าสงกรานต์2022 ประเพณีสงกรานต์นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากเทศกาลโฮลีในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน โดยจะจัดให้มีขึ้นในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม สงกรานต์ เป็นคำในภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง การเคลื่อนย้าย โดยเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายการประทับในจักรราศี หรือการเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่ตามความเชื่อของไทยและบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเพณีสงกรานต์นั้นมีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมทีวันที่จัดสงกรานต์นี้นั้นจะมีการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ในปัจจุบันได้มีการกำหนดวันที่แน่นอน คือ ตั้งแต่ 13 – 15 เมษายน แต่เดิม วันขึ้นปีใหม่ไทยคือ วันเริ่มปีปฏิทินของไทยจนถึง พ.ศ. 2431 และหลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483
เมื่อครั้งก่อน พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง
แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พิธีสงกรานต์นั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ โดยได้ขยายออกไปสู่สังคมเป็นวงกว้างมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ ตลอดจนความเชื่อไป แต่เดิมในพิธีสงกรานต์จะใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่เกิดเป็นประเพณีกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว อีกทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่างเช่น การสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข แต่ในปัจจุบันได้มีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ เทศกาลแห่งน้ำ โดยได้ตัดข้อมูลในส่วนที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมออกไป
เทศกาลสงกรานต์ปี 2565นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัว และสังคม” และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้
การเตรียมตัวก่อนร่วมงานสงกรานต์
ให้มีการพิจารณาตรวจ ATK ก่อนเดินทาง หรือ ก่อนร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง ผู้จัดงานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ TSC2+ และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ (แสดงคอนเสิร์ต/ดนตรี งานอีเวนท์ งานเทศกาล มหกรรม) การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ
ระหว่างช่วงงานสงกรานต์ (พื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับ)
อนุญาตให้เล่นน้ำและจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน มีการกำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน (1 ต่อ 4 ตารางเมตร) สวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน ส่วนในพื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ห้ามให้มีการเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม สามารถจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว จัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่นหรือคับแคบ สวมหน้ากากตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรมสังสรรค์ และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน ผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงห้ามร่วมกิจกรรม
หลังกลับจากงานสงกรานต์
ให้มีการสังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK พิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม การอนุญาตและการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครว่ามีความเห็นอย่างไร เพื่อจะเสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก เพื่อที่จะนำเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ต่อไปว่าจะกำหนดไปในทิศทางใด